เปรียบเทียบข้อมูล ยา 4 ยี่ห้อยารักษาโควิด-19 รวมถึงราคาที่สามารถเข้าถึงได้
จากกรณีที่กรมการแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งแบบวิกฤติ และผู้ที่แสดงอาการแต่ไม่รุนแรง ในการรักษาแต่ละครั้งจะใช้ยา 4 ชนิดที่จะกล่าวนี้เพื่อฆ่าเชื้อโรคโคโรน่าไวรัส และทำให้อาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทุเลาลงหรือจนกว่าจะมีอาการดีขึ้น
4 ยี่ห้อยาสำหรับใช้รักษาโควิด-19 ในประเทศไทย
โดยนพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลยารักษาโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทย ในปัจจุบันพบเพียง 4 ตัว ประกอบไปด้วย ฟาวิพิราเวียร์ , เรมดิซิเวียร์ , โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด
ฟาวิพิราเวียร์
ยา “ฟาวิพิราเวียร์” นั้นต่างประเทศมีการใช้มาแล้วกว่า 2 ปี ในช่วงแรกได้ศึกษาข้อมูลของต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งกลไกออกฤทธิ์ของฟาวิพิราเวียร์ จะไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จากการทบทวนข้อมูลอย่างเป็นระบบนั้น ล่าสุดก็พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีอาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแสดงอาการติดเชื้อชัดเจน 14 วัน
เรมดิซิเวียร์
ยา “เรมดิซิเวียร์” มีกลไกการออกฤทธิ์ในตำแหน่งเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ในช่วงเริ่มต้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้แนะนำหรือรับรองตัวยานี้ แต่เมื่อบางประเทศมีการใช้ยาตัวนี้มาสักระยะ และเริ่มมีข้อมูลการรักษาที่แน่ชัดมากขึ้น ก็ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐ ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ โดยให้ทางหลอดเลือดดำสำหรับผู้ที่รับประทานไม่ได้ สำหรับยาเรมดิซิเวียร์นั้น จะมีปัญหาในเรื่องของการดูดซึมตัวยา ยาเรมดิซิเวียร์สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ดี และจากการศึกษาวิจัย ก็พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการน้อยป่วยลง มีการตอบสนองที่ดีต่อตัวยา และช่วยลดการนอนโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอก โดยกลุ่มรับยาเรมดิซิเวียร์พบว่า มีการนอน รพ.เฉลี่ย 10 วัน ส่วนกล่มที่รับยาหลอก มีการนอน รพ.เฉลี่ยที่ 15 วัน
โมลนูพิราเวียร์
ยา “โมลนูพิราเวียร์” ยาตัวนี้อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจายหลังอนุมัติจากอีโอซี สธ. และ ศบค.แล้ว ซึ่งกลไกออกฤทธิ์ จะเป็นจุดเดียวกันกับยาฟาวิพิราเวียร์ ยาตัวนี้ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงของการป่วยโควิด-19 โดยขนาดยาคือ 800 มิลลิกรัม (มก.) แบ่งเป็น 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน
แพกซ์โลวิด
ยา “แพกซ์โลวิด” กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามา มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน โดยออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ ช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง คาดว่าจะเข้ามาในกลางเดือนเมษายน 65 นี้
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโควิด-19 ในประเทศไทยในตอนนี้ จากการติดตามการใช้ยามาสักระยะ ก็พบว่า ยาแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น
- เรมดิซิเวียร์ ช่วยกลุ่มอาการปานกลาง สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ หรือมีปัญหาการรับประทานหรือการดูดซึม ยาตัวนี้มีราคาคอร์สละ 1,512 บาท
- ฟาวิพิราเวียร์ กำลังจะให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยาตัวนี้มีราคาคอร์สละ 800 บาท
- โมลนูพิราเวียร์ และ แพกซ์โลวิด ยังมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงเป็นยาใหม่จึงมีราคาสูงถึงคอร์สละ 1 หมื่นบาท
จากการติดตามทั้งของกรมการแพทย์ หรือ สำนักการแพทย์ กทม. ยืนยันว่า ยังพบประสิทธิภาพประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟาวิพิราเวียร์ ในหลายประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยังใช้ยาตัวนี้เป็นหลักในการรักษาโควิด-19 หลากหลายสายพันธุ์
การรักษาโควิด 19 โดยผู้เชี่ยวชาญ จะมีการติดตามข้อมูลทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการประชุมร่วมกันเพื่อปรับแนวทางการรักษาเป็นระยะๆ ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ และมีการปรับปรุงแนวทางการรักษาอยู่ตลอดเวลา
ที่มา : กรมการแพทย์ / เพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
เรียบเรียง : www.swenth.com