ปัญหาบัญชีธนาคารโดนดูดเงิน เงินหายจากบัญชี ความเสี่ยงธนาคารออนไลน์ ฯลฯ จากกรณีเหล่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
จึงได้ออกมาตรการ เพื่อป้องกันการทุจริตทางการเงินจากมิจฉาชีพทั้งหลาย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีหลายรูปแบบในปัจจุบัน ทั้ง SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันปลอม รวมไปถึงโปรแกรม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ที่เราอาจรู้ไม่เท่าทันในอนาคต
เพื่อป้องกันเอาไว้ก่อน จึงได้มีมาตรการมาช่วย ให้เราทำงานลำบากขึ้นในตอนแรก แต่ในตอนหลังอาจสบายกว่าเดิม หรือว่าลำบากกว่าเดิมก็ไม่รู้ สำหรับมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จุดประสงค์ก็เพื่อปิดช่องทางแก่เหล่ามิจฉาชีพให้ทำงานยากขึ้นนั่นแหละ รวมไปถึงเราคนปกติด้วย
มาตรการที่แบงค์ชาติกำหนด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ
และเหตุผลหลักที่ต้องมีการยืนยันตัวตนที่สาขา เรามาดูกันว่าเขามีมาตรการอะไรบ้างที่ไปจำกัด ลดโอกาสให้มิจฉาชีพ เข้ามากระทำกับบัญชีเรา
- 1.งดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่านช่องทาง SMS อีเมล์ รวมถึง งดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย
- 2.จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละสถาบันการเงินให้ใช้ได้เพียง 1 อุปกรณ์เท่านั้น
- 3.สถาบันการเงิน ต้องมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัย ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่ตลอดเวลา
- 4.ยกระดับความเข้มงวด ในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า เช่น สแกนใบหน้า กรณีเปิดบัญชีโดยแอปพลิเคชัน หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป
- 5.กำหนดเพดานวงเงิน ถอน/โอน สูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการ ในแต่ละประเภท โดยลูกค้า สามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด
ซึ่งหากเราไม่ไปยืนยันตัวตนที่สาขาก่อน ก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เรามาดูว่า มีธนาคารใด ต้องไปยืนยันตัวตนบ้าง เพราะหากไม่ทำ บางธุรกรรม เช่น การโอนเงินผ่าน mobile banking ในจำนวนมาก ๆ (เกินห้าหมื่นบาท) จะกระทำไม่ได้ แถมยังต้องยืนยันตัวตน ก่อนเดือน พ.ค.66 นี้เท่านั้น
ขั้นตอนง่าย ๆ เพราะแต่ละธนาคาร ขอแค่ให้นำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตน พร้อมสแกนใบหน้า ในกรณีที่ต้องทำธุรกรรมบางอย่าง แต่หากไม่ไปยืนยันตัวตน ก็ยังสามารถทำรายการได้อยู่ปกติ ดูเงื่อนไขต่าง ๆ ของแต่ละธนาคารได้เลย
เงื่อนไขที่ต้องยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรม ในแต่ละธนาคาร
ธนาคารกรุงเทพ หากยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว สามารถทำธุรกรรมได้ดังนี้
- รายการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อรายการ ยอดสะสมต่อวัน ครบทุก 200,000 บาท
- ปรับเพิ่มวงเงินโอนเงิน จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน
ธนาคารออมสิน หากยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว สามารถทำธุรกรรมได้ดังนี้
- รายการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อรายการ ยอดสะสมต่อวัน ครบทุก 200,000 บาท
- ปรับเพิ่มวงเงินโอนเงิน จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน
ธนาคารไทยพาณิชย์ หากยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว สามารถทำธุรกรรมได้ดังนี้
- รายการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อรายการ ยอดสะสมต่อวัน ครบทุก 200,000 บาท
- ปรับเพิ่มวงเงินโอนเงิน ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป
หากมีธนาคารอื่น จะมา update ให้เรื่อย ๆ
ขั้นตอนยืนยันตัวตน เพื่อปลดล็อคการทำธุรกรรมประเภทต่าง ๆ ข้างต้น
- เจ้าของบัญชี นำบัตรประชาชนไปอัพเดตข้อมูลที่ธนาคาร สาขาใกล้บ้าน
- ธนาคาร จะถ่ายรูปใบหน้าเจ้าของบัญชีเก็บไว้ตรวจสอบ
เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้ทำธุรกรรมแบบไม่มีปัญหาใด ๆ แล้ว เพียงแต่ swenth.com คิดว่า ถ้ายืนยันตัวตนแล้ว จะทำรายการได้ง่าย ๆ โดยที่ระบบตรวจสอบยังไม่ดีพอ ก็แย่หน่อยนะ แต่ถึงกระนั้น คงจะเป็นแบบระบบ NDID หรือระบบ เป๋าตัง ที่เวลา setup ใหม่ทุกครั้งจะต้องมีการยืนยันตัวตนผ่าน application และมันค่อนข้างยุ่งยากวุ่นวาย สุดท้ายก็ไปจบที่สาขาอยู่ดี
แต่ถ้ามันง่ายมาก ก็เสร็จมิจฉาชีพอยู่ดี
เอาเป็นว่า swenth.com แนะนำ เวลาโอนเงินเยอะ ๆ เสียเวลาไปธนาคารดีกว่านะ ปลอดภัยกว่า
ส่วนคนที่ไม่ได้ยืนยันตัวตน ก็ยังคงทำธุรกรรม ฝาก ถอน โอน จ่าย ได้อยู่ปกติ เพียงแต่ยอดเงินทำรายการต่อวัน อาจะไม่สูงถึง 50,000 บาทเท่านั้นเอง
อย่าไปตื่นตูมแห่กันไปเฝ้าหน้าธนาคาร เพื่อรอยืนยันตัวตน ทั้งที่การใช้จ่ายเงินก็อยู่ในระดับปกติซะล่ะ มันเป็นการไปรบกวนชาวบ้านเขา