รายงานจากบทความเรื่อง ความเสี่ยงของการใช้ Generative AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก ดีลอยท์
ประเทศไทย, 7 มีนาคม 2567 มีการรายงาน Asia Pacific Centre for Regulatory Strategy (ACRS), ‘Generative AI: Application and Regulation in Asia Pacific’ ซึ่งเป็นผลสำรวจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Generative AI ในภาคบริการทางการเงิน (Financial Services) ทิศทางของกฎระเบียบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และให้คำแนะนำกับ บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ในการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับในเรื่องนี้ ที่เป็นประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ACRS ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากดีลอยท์ทั้งหมด 12 คน ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคโนโลยีและกฎหมายทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (AP) เพื่อทำความเข้าใจว่าเมื่อเทคโนโลยี Generative AI (“GenAI”) ได้รับการพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น หน่วยงานที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลจะทบทวนกรอบการใช้งานของ AI ในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงทางเทคโนโลยีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจาก GenAI และสร้างความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มภาคบริการทางการเงินอยู่
จากความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่นการนำเทคโนโลยี GenAI มาใช้อย่างแพร่หลายผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Chat GPT ของ OpenAI และ Bard AI ของ Google ส่งผลให้ความเสี่ยงที่หน่วยงานที่กำกับดูแลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระบุในหลักการกำกับดูแลทางกฎหมาย AI มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความแข็งแกร่ง ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลยังเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณา แต่ข้อกังวลเกี่ยวกับอคติและทรัพย์สินทางปัญญาส่งผลให้หน่วยงานที่กำกับดูแลจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีกับการรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค
อุตสาหกรรมการบริการทางการเงินกำลังเผชิญช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงและดิสรัปชั่นครั้งใหญ่ GenAI เข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบริการ แต่เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ความสนใจและการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่อง AI ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินต่างเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อคติ การกำกับดูแล ความรับผิดชอบ และการปกป้องข้อมูลตลอดวงจรชีวิตของ AI รวมถึงความเสี่ยงทางกฎระเบียบและ
ความเสี่ยงทางกลยุทธ์อีกด้วย รายงานล่าสุดของดีลอยท์ จึงมีข้อแนะนำให้บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตและสร้างกรอบการกำกับดูแล AI เพื่อ ระบุ และจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
รายงานฉบับนี้นำเสนอประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
- บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรเตรียมความพร้อมสำหรับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของ GenAI ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
- บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้นำแอพลิเคชัน AI มาใช้งานหรือกำลังพิจารณานำมาใช้งาน ควรเริ่มพัฒนากรอบการกำกับดูแล AI เพื่อสนับสนุนการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบในอนาคตในเรื่องนี้ บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่แอปพลิเคชัน GenAI สร้างขึ้น
- บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรประเมินปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดความเปราะบางของลูกค้า เช่น วุฒิการศึกษา รายได้ หรืออายุ และสร้างความเชื่อมั่นว่าการนำแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้ไม่ส่งผลให้เกิดอคติหรือการเลือกปฏิบัติต่อลูกค้าที่มีความเปราะบางนี้ อันเป็นผลจากการนำแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
- บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินควรระบุฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรวบรวม จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นว่าฝ่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปกป้องข้อมูล
- เนื่องจากการคุ้มครองลิขสิทธิ์สำหรับการนำเข้าและส่งออกข้อมูลของ GenAI ยังไม่ชัดเจน บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน จึงควรตั้งสมมติฐานว่าข้อมูลหรือข้อคำถามใด ๆ ที่มีการนำเข้าในแอปพลิเคชัน GenAI อาจกลายเป็นข้อมูลสาธารณะได้ เป็นคำแนะนำสำหรับการสร้างขอบเขตในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันการเปิดเผยทรัพย์สินทางปัญญาหรือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
- บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินที่นำเอาแอปพลิเคชัน GenAI มาใช้หรือมีแผนที่จะนำมาใช้ ควรลงทุนในการจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถ และจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ให้กับพนักงาน รวมถึงคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง เพื่อเพิ่มความเข้าใจในความเสี่ยงที่สำคัญและความรับผิดชอบในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น
อากิฮิโระ มัตสึยามะ Risk Advisory Leader ดีลอยท์ เอเชียแปซิฟิก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวว่า “แม้ว่ากฎระเบียบและกฎหมายด้าน AI จะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาหรือการนำไปใช้ในเขตอำนาจในการตัดสินคดีส่วนใหญ่ แต่บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินก็จำเป็นต้องใช้แนวทางที่วัดผลโดย สร้างกรอบการกำกับดูแล AI ของตนเองโดยเร็วที่สุดและดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจ ระบุ และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ออกกฎหมายเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการกระบวนการสร้างกณเกณฑ์และผลักดันฉันทามติเกี่ยวกับเส้นทางอนาคตของ AI”
Mr Wong Nai Seng Regulatory Strategy Leader กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยี AI เช่น GenAI มีศักยภาพที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลภายในกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวควรเป็นสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทที่ให้บริการทางการเงินจึงควรระมัดระวังในการพิจารณานำเทคโนโลยี AI มาใช้ เพื่อพิจารณาว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ AI เหมาะสมกับความเสี่ยงที่มีอยู่และกรอบการบริหารความเสี่ยงโดยรวมอย่างไร”
ที่มาข่าวประชาสัมพันธ์ หัวข้อ Generative AI: Application and Regulation in Asia Pacific | Deloitte China | Financial Services
https://www2.deloitte.com/cn/en/pages/financial-services/articles/generative-ai-application-and-regulation-in-apac.html