เปิดเทคนิค และวิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ที่สามารถทำได้เองไม่ยุ่งยาก ลงทุนน้อยแต่ทำกำไรสูง กับการทำเกษตรอินทรีย์ และบทความสร้างอาชีพ
สำหรับเทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง คือ จะเน้นในเรื่องของ การวางกองฟางสำหรับเพาะเห็ด ให้อยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องได้ถึงทั้งสองด้าน จะต่างจาก การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ที่วางแนวไหนก็ได้ เพราะกองเตี้ยนั้น ไม่มีผลกระทบต่อการส่องของแสงแดด คือแสงมาด้านไหนก็สามารถส่องได้ครอบคลุมทั้งกอง
แต่การวางกองสูงนั้น จะต้องคำนวณแนวแสงแดดให้ดีก่อนทำการวางกองฟางเพาะเห็ด
ส่วนความสูงที่จะวางกองฟางนั้น แล้วแต่ความชอบและความถนัดของผู้ทำ หากสูงเกิน 1 เมตร อาจใช้ไม้ค้ำยันกองฟาง ทั้งสองด้าน การทำดังนี้ก็เพื่อป้องกันการไหลของฟาง เมื่อเวลารดน้ำอาจมีการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง กองฟางเพาะเห็ดจะได้ไม่ถล่มทำให้เกิดความเสียหาย
การวางชั้นฟางแบบกองสูง สำหรับเพาะเห็ด
ก่อนปูฟางชั้นแรก แนะนำให้รดน้ำให้ดินชุ่มน้ำก่อน เพื่อดินจะได้ไม่ดูดความชื้นจากกองฟาง จนกระทบกับการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด และควรใช้ไม้หลักที่แข็งแรง ปักกันกองฟางในตำแหน่ง หัว กลาง ท้าย ของความยาวของกอง ระยะห่างคำนวณให้เหมาะสม หรือถ้ากองใหญ่ ก็ใช้ระยะห่างประมาณ 4 เมตรต่อหลัก เพื่อกันการไหลของฟางจนทำให้กองขยายตัว
ชั้นแรก ควรใช้ฟางที่ผ่านการแช่นํ้ามาแล้วอย่างน้อย 1 ชม. จำนวนฟางขึ้นอยู่กับขนาดที่จะเพาะ นำกองฟางมาวางแล้วกระทุ้งให้ระดับกองเสมอกัน จึงค่อยตัดเชือกที่มัดฟางออก เพื่อขยายฟางให้เต็มพื้นที่ที่ปักหลักเอาไว้ หากพื้นที่ใหญ่อาจใช้หลายกอง เสร็จแล้วใช้ไม้กระดานวางทับ แล้วขึ้นเหยียบไปมา เพื่อให้ได้แนวเสมอกันทั้งกอง ในชั้นแรก ความหนาของฟางควรอยู่ที่ประมาณ 15-20 ซม. เสร็จแล้วโรยเชื้อเห็ดลงบนกองฟาง ตามขอบทั้ง 4 ด้าน ในตำแหน่งที่ห่างจากขอบนอก ประมาณ 10-12 ซม. ไม่ต้องโรยหนาเกินไป
ชั้นต่อไป ทำซ้ำเหมือนชั้นแรก ทั้งนี้ ความสูงไม่ควรเกิน 1 เมตร หากสูงมาก และกองใหญ่ จะลำบากในการเก็บผลผลิต ชั้นบนสุด เมื่อโรยเชื้อเห็ดเต็มพื้นที่แล้ว ใช้ฟางปิดทับเชื้อเห็ดซ้ำอีกครั้ง หนาประมาณ 10 ซม จะกดทับหรือขึ้นเหยียบให้เรียบก็ได้ หรือจะไม่ทำก็ได้
เทคนิคการวางกองแบบสูง หน้าร้อน หน้าหนาว ต่างกัน
สำหรับในหน้าร้อน ควรวางกองให้สูงประมาณโดยรวม ไม่เกิน 5 ชั้น หากวางกองสูงเกินไป จะทำให้กองฟางร้อนมาก เชื้อเห็ดส่วนใหญ่จะตาย ส่วนในหน้าหนาว ควรจะวางกองฟางสูงประมาณ 7 ชั้น ชั้นละประมาณ 15 ซม. ความสูงรวมราว ๆ 1 เมตร พอดี
การวางกองนั้น ในชั้นแรกจะวางให้กว้างก่อน ส่วนในชั้นถัดไป จะวางให้แคบลงเรื่อย ๆ หากวางชั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว จะเห็นเป็นในลักษณะเหมือนเนินฟาง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการพังทลายของกองฟาง ความกว้างกองฟางไม่ควรเกิน 1 เมตร ส่วนความยาวอาจยาวได้ถึง 1.5-2 เมตร
สามารถทำหลายกองได้ แต่ต้องดูว่า ไม่มีการบังแสงจากกองฟางในด้านในด้านหนึ่ง
การโรยเชื้อเห็ดฟางแบบกองสูง
ควรวัดจากขอบนอกเข้าด้านในกองฟาง ให้ได้ระยะประมาณ 10-12 หรือ 15 ซม. แล้วจึงทำการโรยเชื้อเห็ดทั้ง 4 ด้าน ในทุกชั้น เมื่อเสร็จแล้ว ใช้กรรไกรตัดหญ้า หรือมีด ตัดขอบฟาง หรือเศษฟาง ที่ล้นขอบออกมา เพื่อให้ขอบฟางทุกด้าน เรียบเสมอกัน เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวเห็ดฟาง
การโรยเชื้อเห็ด ไม่ควรโรยมาก เว้นพื้นที่ให้มีการเติบโตบ้าง และไม่ควรโรยลึกเกินไป เพราะจะทำให้เห็ดไม่โต เนื่องจากเชื้อเห็ดจะร้อน และขาดอากาศตายได้ แต่ก็ไม่ควรโรยชิดริมขอบเกินไป เพราะทั้งแสงแดด ความชื้น จะมีผลต่อการเติบโตของเชื้อเห็ด
ชั้นสุดท้าย ด้านบน ควรโรยเชื้อให้ทั่วทั้งผืน เนื่องจาก เราต้องการให้เส้นใยเห็ด สามารถเดินเข้าไปในกองฟางได้เร็วยิ่งขึ้น และก็สามารถเก็บผลผลิตดอกเห็ดบนหลังกองฟางได้ด้วย
เมื่อได้กองฟางและมีเชื้อเห็ดเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการรดน้ำอีกครั้ง ให้ทั่วทั้งกอง ในช่วงฤดูหนาว หรือหากมีอากาศหนาวจัด แนะนำให้ใช้พลาสติกคลุมกองเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้ดอกเห็ดเติบโตอยู่ได้
เทคนิคการใช้พลาสติกสำหรับคลุมกองฟาง
- พลาสติกทึบ จะได้ดอกเห็ดสีขาวสวย และน้ำหนักเบา
- พลาสติกใส จะได้ดอกเห็ดสีคล้ำ ได้น้ำหนักดี
หลังกองเห็ดฟาง ควรเว้นช่องให้น้ำระเหยเล็กน้อย หรือเมื่อเห็นว่ากองฟางร้อนเกินไปควรเปิดพลาสติกคลุมกองเพื่อระบายอากาศบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กองฟางร้อนเกินไป ในฤดูหนาว การใช้ฟางแห้งปิดคลุมทับพลาสติกด้านบนให้หนา จะช่วยสร้างความอบอุ่น และป้องกันแสง ที่อาจมีมากเกินไป จะทำให้ดอกเห็ดเติบโตดียิ่งขึ้น
แต่หากอุณหภูมิโดยรอบ ณ ตำแหน่งที่เพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ไม่หนาวมาก หรือไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ก็แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคลุมพลาสติกเลย เพียงแต่ใช้ฟางคลุมรอบกองซ้ำอีกชั้นหนึ่งก็ได้เหมือนกัน
การดูแลรักษาอุณหภูมิ เพื่อดอกเห็ดที่สมบูรณ์
ประมาณ 3-4 วัน ค่อยตรวจดูความชื้นโดยรวม ด้วยการดึงเศษฟางในกองชั้นบน ๆ มาบิดน้ำดู หากยังมีน้ำไหลออกมา แสดงว่าพอจะมีความชื้นอยู่ แต่ถ้าบิดแล้ว ไม่มีน้ำไหลเลย อาจเดาได้ว่าในกองฟางแห้งเกินไป ต้องเปิดพลาสติกคลุมกอง เพื่อทำการรดน้ำ การรดน้ำ แนะนำให้ใช้บัวรดที่หลังกองโดยตรง สังเกตนํ้าไหล ถ้าไหลออกมาทางด้านข้างกอง ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว และรดเร็ว ๆ ซ้ำให้ทั่วกองจึงปิดพลาสติกคลุมอีกครั้ง
เทคนิคการเพิ่มผลผลิต
ใช้ขี้เถ้าจากการเผาฟาง โรยรอบ ๆ ตามผิวกองทุกด้านให้ทั่ว เป็นการเพิ่มความเป็นกรด-ด่าง จะทำให้ได้ดอกเห็ดที่สมบูรณ์ และนํ้าหนักดีกว่าเดิม
ไม่ควรรดน้ำบ่อย จะทำให้ความชื้นมาก เส้นใยเห็ดจะไม่ค่อยเติบโต เพื่อกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดเจริญได้เร็วขึ้น ควรทำให้อุณหภูมิภายในกองสูงขึ้น ด้วยการใช้พลาสติกปิดทับกองฟางให้หนาแน่น
หลังจากผ่านไป ประมาณ 3-5 วัน ดอกเห็ดจะเกิด และจะเก็บผลผลิตได้ ในอีก 2-3 วันถัดมา และดอกเห็ดจะเกิดเรื่อย ๆ จน 2-3 สัปดาห์ จึงจะหมด สำหรับผลผลิตที่ได้นั้น อาจไม่ได้ออกทุกวัน มีเว้นเป็นบางวัน ครั้งละ 2-3 วันแล้วแต่ความสมบูรณ์ของเชื้อเห็ด ดังนั้น ในระยะที่มีดอกเห็ดน้อย ควรให้ความชื้นด้วยการรดนํ้าบริเวณข้าง ๆ กองทุกครั้ง
ส่วนการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ก็ใช้เทคนิคเดียวกัน เพียงแต่ความสูงของกอง อาจจำกัดแค่ 1-2 ชั้น ก็เพียงพอที่จะให้ผลผลิตแล้ว อีกทั้งประหยัดจำนวนฟางที่ใช้ได้ด้วย และสามารถควบคุมความชื้นได้สะดวก ที่สำคัญ การเพาะเห็ดแบบกองเตี้ย ไม่แนะนำให้ทำกลางแจ้ง เนื่องจากจำนวนชั้นที่ไม่หนาพอ จะทำให้ความร้อนไม่พอให้เชื้อเห็ดเติบโต จึงมักเห็นการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย จะเพาะกันในโรงเรือน และใช้พลาสติกคลุมกองทุกครั้ง
ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้ดอกเห็ดเติบโตได้ดีนั่นเอง ส่วนการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง สามารถทำกลางแจ้งได้ และแทบไม่ต้องใช้วัสดุคลุมกองก็ให้ผลผลิตได้ดี แต่ต้องแลกมาด้วยจำนวนฟาง และน้ำ ที่ต้องใช้เยอะพอสมควร.
เขียน : kasetorganics.org
เรียบเรียง : swenth.com