จากข่าว โรคไข้ดิน ระบาดหนัก มีคนป่วยไปแล้วถึง 7 ราย เสียชีวิต 5 ราย ปีแรกที่พบว่ามีคนป่วย ก็มีคนเสียชีวิตเลย
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2565 นี้ ทางด้าน นพ.เดชา แซ่หลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการพบ ผู้ป่วยติดเชื้อ โรคไข้ดิน หรือ โรคเมลิออยด์โดสิส จากในพื้นที่ 6 ตำบล ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 7 ราย ยิ่งกว่านั้น มีเสียชีวิตไปแล้วถึง 5 ราย เป็นสถิติมากที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง
โดยในพื้นที่ อ.เทพา พบผู้ป่วยโรคไข้ดิน ในพื้นที่ อยู่เป็นระยะ ๆ ปีละ 1-2 ราย แต่ไม่เคยพบการเสียชีวิตมาก่อน ซึ่งปีนี้เป็นปีแรก พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิต เฉพาะในช่วงเดือน เม.ย. ถึง ต.ค.65 ตรวจสอบแล้ว พบว่าเจอผู้ป่วยไปแล้ว 7 ราย เสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิต มี 4 ราย ที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน
โรคไข้ดิน คืออะไร
มาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน จากข้อมูลของ มหิดล ได้เล่ามาเป็นนิทาน แต่ผู้เขียนขอสรุปสั้น ๆ ให้ว่า
เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เชื้อส่วนใหญ่อยู่ในดิน พบได้เยอะหน่อยในภาคอีสาน จึงเรียกโรคนี้กันติดปากว่า โรคไข้ดิน หากคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานและโรคไต หากติดเชื้อเข้าไปก็อาการหนัก
ปกติโรคนี้ จะติดต่อกันยาก ยกเว้น จะมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ดี เด็ก ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคได้เช่นกัน ส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อโรคจาก สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ และติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง เด็กจะมีอาการ ต่อมน้ำเหลืองโต ไม่หาย บางครั้งดูเหมือนโรคมะเร็ง แต่เด็กที่ติดเชื้อพวกนี้ มีอาการไม่หนักมาก ไม่เหมือนแบบที่ติดเชื้อในกระแสเลือด
แนะมาตรการ 5 สวม ป้องกันโรคไข้ดิน
ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากโรคไข้ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีฝนตกต่อเนื่อง และมีความชื้นสูง เกษตรกรต้องออกไปทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง จึงมีความเสี่ยงสูง
เพราะโรคนี้ เป็นโรคที่ติดต่อจากการสัมผัสดิน หรือน้ำ ที่มีเชื้อแบคทีเรีย ที่มีพาหะของโรค ผ่านทางผิวหนัง เข้าสู่ร่างกาย แม้ผิวหนังไม่มีแผล ก็สามารถติดเชื้อได้
จึงขอให้เข้มงวด ในมาตรการ 5 สวม คือ
- สวมหน้ากากอนามัย
- สวมเสื้อแขนยาว
- สวมถุงมือยาง
- สวมกางเกงขายาว
- สวมรองเท้าบูท
ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรปฏิบัติตามมาตรการ 5 สวมอย่างเคร่งครัด รักษาความสะอาดและรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำต้มสุก สามารถป้องกันโรคได้
ทางด้าน นพ.เดชา ก็ยืนยันว่า การติดต่อของโรคนี้ ไม่ติดต่อจากคนสู่คน ที่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ขออย่าตระหนก แต่ขอให้ตระหนักในการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด
อ้างอิง : โรคไข้ดิน ม.มหิดล www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Burkholderia.html
ภาพ : google / Thai PBS
เรียบเรียง : www.swenth.com