จากข่าวของดารานักแสดงดาวรุ่ง ที่กำลังมีผลงานเด่นจากเรื่อง เคว้ง บีม-ปภังกร เสียชีวิตจากโรคใหลตาย นั้น
ทีมสรุปข่าวล่าสุดประจำวัน เลยอยากนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ โรคใหลตาย มาฝากกัน
ใหลตาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) โดยอาการใหลตายนี้ จะใช้เรียกการเสียชีวิตที่เกิดจากผลของอาการหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (ventricular fibrillation, VF) ซึ่งมักจะพบในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในอาการหลับลึก ทำให้เกิดอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก บางครั้งจะเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต
คำว่า “ใหล” มาจากคำที่หมายถึง ละเมอ ใช้ สระ ไอ ไม้ม้วน
คำว่า “ไหล” กับ “ใหล” ต่างกันอย่างไร
- “ไหล” ไม้มลาย เป็นคำกริยา หมายถึงอาการเคลื่อนที่ไป อย่างเช่น น้ำไหล
- “ใหล” ไม้ม้วน เป็นอาการไม่ได้สติอย่างหนึ่ง เช่น การใหล (ละเมอ) หลงใหล หรือ ใหลตาย
อาการใหลตาย มักเกิดในผู้ชายช่วงวัยหนุ่ม ที่มีสุขภาพแข็งแรง ปกติดีทุกอย่าง แต่เมื่อเข้านอนและพบว่าเสียชีวิตในช่วงกลางดึก หรือในตอนเช้าของวันถัดไป เป็นที่มาของความเชื่อพื้นบ้านในภาคอีสาน ภาคเหนือ เกี่ยวกับตำนานผีแม่หม้าย
อ้างอิงบทความจาก พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ ระบุว่า..
จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิต พบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะบรูกาดา (Brugada pattern) โดยไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานส่วนอื่นของหัวใจ ในทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)
อาการใหลตายเป็นอย่างไร
อาการใหลตาย เกิดจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆโดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว โดยความผิดปกติมักพบในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตถ้าการเต้นผิดจังหวะของหัวใจนั้นเกิดนานพอและไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตฟื้นขึ้นมาได้กรณีที่การเต้นผิดจังหวะของหัวใจหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมอันได้แก่การช็อคหัวใจหรือการปั๊มหัวใจ
นอกจากใหลตายจะพบบ่อยขณะที่ผู้ป่วยหลับแล้ว ก็สามารถพบได้ในขณะที่ตื่นอยู่ เช่นเดียวกัน อาการที่เกิดขึ้น จะเป็นอาการใจสั่นช่วงสั้นๆ หรืออาการวูบ เป็นลมหมดสติ หรือออกกำลังกายอยู่ดีๆ ก็วูบหมดสติ ซึ่งอาการใหลตายนี้ ได้ค่าชีวิตดารา นักแสดง รวมถึงบุคคลมีชื่อเสียงไปหลายท่านแล้วในอดีต
ความเสี่ยงของการเกิดใหลตาย
ใหลตาย มักพบในเพศชายวัยทำงาน (ช่วงอายุระหว่าง 25-55 ปี) แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิง ในเด็กหรือในผู้สูงอายุได้เช่นกัน สำหรับในประเทศไทยพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองลงมาคือภาคเหนือ ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อการเป็นใหลตายนั้น ไม่จำกัด แต่ให้สงสัยอาการไว้ก่อน เป็นต้นว่า สงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคใหลตายเมื่อไหร่
- ผู้ที่รอดชีวิตจากอาการใหลตาย อาจเนื่องจากอาการหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ลักษณะอาการเข้าได้กับใหลตาย เนื่องจากพบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรม หรือยีนที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และความผิดปกตินี้อาจส่งต่อไปในญาติสายตรงของผู้ป่วยใหลตายได้
- ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Brugada แม้จะไม่มีประวัติอาการใหลตายจากประวัติครอบครัว
การวินิจฉัยโรคใหลตาย ทำอย่างไร
การวินิจฉัยโรคใหลตาย อาศัยการตรวจพบความผิดปกติที่เรียกว่า Brugada (Brugada pattern) จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบยกสูงขึ้นกว่าการตรวจมาตรฐาน หรือขณะให้ยากระตุ้น
การรักษาอาการใหลตาย ทำอย่างไร
ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด การรักษาจึงมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิตโดยวิธีการดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันได้แก่การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก
- ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automatic implantable cardioverter defibrillator, AICD)
- การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง
ที่มา / อ้างอิง : บทความโดย พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ
ภาพ : www.pptvhd36.com
เรียบเรียง : www.swenth.com