วันนี้เรามาดูเรื่อง ความแรงของพายุระดับต่าง ๆ ว่าระดับไหน รุนแรงแค่ไหน ในขณะที่ พายุโนรู ที่กำลังเข้าถล่มลาว อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว
จากรายงานข่าวล่าสุด ขณะนี้ พายุโนรู ที่กลายเป็นพายุไต้ฝุ่น จากทะเลจีนใต้ มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าเมื่อเข้าไทย จะกลายเป็นพายุโซนร้อนก่อน ถึงจะอ่อนกำลังลง อ้างอิงจาก ประกาศกรมอุตุฯ เรื่อง พายุ โนรู ฉบับที่ 10 เมื่อเวลา 16.00 น. ณ 27 กันยายน 65
ส่วนวันนี้ (28 กันยายน 65) พายุโนรู อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ลดเหลือ 85 กม./ชม. อยู่ห่าง จ.อุบลราชธานี 150 กม. และคาดว่า จะเข้าปกคลุมภาคอีสานตอนล่าง จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ในคืนนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน ต่อไป อ้างอิงจาก ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุโนรู ฉบับที่ 13
จากข้อมูลที่กล่าวมา หลายคนคงสับสนว่า ทำไมพายุ มีหลายชื่อเรียก ซึ่งระดับความรุนแรงก็แตกต่างกัน วันนี้จะมาบอกเกี่ยวกับที่หลายคนสงสัย
เปิดข้อมูล ความแรงของพายุ ในระดับต่าง ๆ
เนื่องจากพายุ มักก่อตัวในบริเวณทะเลเป็นส่วนใหญ่ และยากที่จะเข้ามาในประเทศไทย แต่ก็มีไม่น้อยที่หลุดเข้ามาบ้าง ทำให้เราอาจไม่ค่อยคุ้นกับพายุ มากนัก วันนี้เลยมาทำความรู้จักกับ พายุในระดับต่าง ๆ ว่าทำไมมีหลายชื่อเรียกกัน
ตามปกติ ประเทศไทยเราอยู่ในโซนเขตร้อน มักจะเจอกับ พายุหมุนเขตร้อน (TROPICAL CYCLONE) พายุนี้มักจะเกิดขึ้นบริเวณเหนือทะเล หรือมหาสมุทรในเขตร้อน เมื่อพายุดังกล่าว อยู่ในสภาพที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก
โดยพายุเขตร้อนนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลม ที่พัดรุนแรงมาก หากเกิดในบริเวณซีกโลกเหนือ จะมีลมพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลาง ในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา ส่วนที่เกิดในซีกโลกใต้ ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลาง ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา
ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แบ่งพายุหมุนเขตร้อน ตามความรุนแรงของพายุระดับต่าง ๆ ไว้ดังนี้
- พายุดีเปรสชั่น (Tropical depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- พายุโซนร้อน (Tropical storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
พายุดีเปรสชั่น (Tropical depression)
เกิดจากพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. (34 นอต) ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก มีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ พายุระดับนี้จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน
พายุโซนร้อน (Tropical storm)
เกิดขึ้นเมื่อพายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 63 กม./ชม.ขึ้นไป (34 นอต) แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. (64 นอต) มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ฝนที่ตกอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้ พายุระดับนี้อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง
พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน (Typhoon or Hurricane)
มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป (64 นอต) มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้ ในทะเลมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก และอาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้
พายุระดับนี้มักจะเกิด “ตาพายุ” ขึ้นตรงศูนย์กลางพายุ เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด ลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย ส่วนรอบๆ จะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงจัด มีเมฆครึ้ม มีฝนตกพายุรุนแรง
สำหรับพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนพายุที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อยมาก พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และเดือนตุลาคม เป็นเดือนที่พายุ มีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด รองลงมาคือเดือนกันยายน
ดังนั้น ในทุกปี เราจะเห็นว่า ก่อนจะเข้าสู่หน้าหนาว ประเทศไทยมักจะเจอกับพายุ และน้ำท่วม บางพื้นที่ต้องนั่งตากฝนกันทั้งที่ต้องทนกับอากาศหนาวไปด้วย ให้เห็นกันบ่อย ๆ
ชื่อเรียกอื่น ของพายุหมุนเขตร้อน
ในตัวพายุนั้น ยิ่งใกล้ศูนย์กลางมากเท่าไหร่ ลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลม และมีความเร็วสูงที่สุด บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางบางครั้งต่ำกว่า 900 เฮกโตปาสคาล (hPa) มีลักษณะอากาศร้ายเกิดขึ้น มีฝนตกหนักมาก บางครั้งมีพายุฟ้าคะนอง ฝนและเมฆมีลักษณะไม่เหมือนกันนักในแต่ละลูก ส่วนใหญ่เป็นแนวโค้งหมุนเข้าหาศูนย์กลาง
มีเมฆคิวมูลัส และคิวมูโลนิบัส ที่มีฝนอยู่ด้วย เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเลและน้ำขึ้นสูง ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุ มีลักษณะเป็นวงกลม มองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม เรียกว่า “ตาพายุ” เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุ เพียงแค่หลักสิบกิโลเมตรเท่านั้น (ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้ จะมีอากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อย ลมพัดอ่อน ๆ
พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกัน ตามบริเวณที่เกิดขึ้น เช่น
- ในอ่าวเบงกอล และในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า “ไซโคลน” (CYCLONE)
- ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และทางด้านทะเลฝั่งตะวันตกของเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” (HURRICANE)
- ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ด้านตะวันตก กับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ และทะเลจีนใต้ เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” (TYPHOON)
อ้างอิง : tmd.go.th/info/info.php?FileID=28
เรียบเรียง : swenth.com