32 จังหวัดยังวิกฤต ฝุ่น PM 2.5 รัฐสั่งยกระดับเข้ม ห้ามเผา

ฝุ่น PM 2.5 Polution

จากกรณี ฝุ่น PM 2.5 ยังวิกฤตในประเทศไทยนั้น ล่าสุดรายงานว่า 32 จังหวัดยังอ่วมหนัก ด้านบิ๊กป้อม ก็สั่งยกระดับแก้ปัญหา ห้ามเผา-ป้องกันไฟป่า

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ รายงานเมื่อเวลา 07.00 น. สรุปดังนี้

ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน กรุงเทพฯ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.ลำพูน จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชลบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชัยภูมิ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และ จ. บุรีรัมย์

>ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 15 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 36 – 91 มคก./ลบ.ม.

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 41 – 124 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 34 – 58 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 24 – 51 มคก./ลบ.ม.
  • ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 17 – 30 มคก./ลบ.ม.
  • กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. เกินค่ามาตรฐาน 11 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 30 – 71 มคก./ลบ.ม.

คำแนะนำทางสุขภาพ

ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับประชาชน​ที่อยู่​บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ​ (พื้นที่สีแดง)​ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ขอรายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 17 – 22 มีนาคม 2566 ดังนี้

วันที่ 17 มี.ค. 66 เป็นต้นไปสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งพบว่าตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 ม.ค. – 3 มี.ค.66 PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 – 3 มี.ค.66 ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 56 – 225 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

รวมถึงสถานการณ์จุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 มีนาคม 2566 พบว่าจำนวนจุดความร้อนทั่วประเทศ มีจำนวน 56,439 จุด โดยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวน 31,719 จุด (เพิ่มขึ้น 195%) โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ป่ามากกว่า 80% รองลงมาเป็นพื้นที่เกษตร 15%

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม และนายจตุพร บุรุษพัฒ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รองประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการได้มีมติ “ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต” ในพื้นที่ 17 จังหวัด และแผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567 – 2570 โดยมีสาระดังนี้

1.แผนการดำเนินงาน/มาตรการเร่งด่วน

1) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าอยู่ในระดับวิกฤต หรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในขั้นรุนแรง ระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์ เครื่องมือ อากาศยาน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวัง และปฏิบัติการดับไฟอย่างเข้มข้น
2) ให้กระทรวงมหาดไทยกำชับจังหวัดประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ รวมถึงห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาในที่โล่งในช่วงนี้ และให้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น
3) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำชับให้งดรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในช่วงนี้
4) ให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร พิจารณามาตรการในการจำกัดเวลา พื้นที่ และปริมาณสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาในเขตเมือง
5) ให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผา หรือผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

6) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง
7) ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดห้องปลอดฝุ่น แจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น รวมถึงยารักษาโรค และเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งหน่วยบริการตรวจสุขภาพประชาชน และจัดบริการคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำ และดูแลด้านสุขภาพกับประชาชน
8) ให้ทุกหน่วยงานมีการสื่อสารผลการดำเนินงานของภาครัฐในการป้องกันแก้ไขปัญหา หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง


hosting สำหรับ wordpress โดยเฉพาะ
hosting คุณภาพสำหรับ wordpress โดยเฉพาะ

2.แผนการดำเนินงาน/มาตรการระยะยาวสำหรับปี 2567 – 2570
1) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาการจัดสรรงบบูรณาการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
2) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อุดหนุนให้กับ อปท.
3) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดมาตรการจูงใจในการนำรถเก่าออกจากระบบ และมาตรการจำกัดปริมาณรถ และโรงงาน
4) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เพิ่มระบบติดตามตรวจสอบและบ่งชี้แหล่งกำเนิดฝุ่นละออง
5) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ จัดทำแผนการ/มาตรการลดและจัดการจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนฯ รายพื้นที่

6) ให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้มงวดมาตรการปลอดการเผาสำหรับพื้นที่เกษตร (zero burning) ในพื้นที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด และข้าว เช่น กำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการเพิ่มมูลค่าวัสดุชีวมวลทางการเกษตรโดยให้หน่วยงานจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการฯ
7) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าทางเกษตร ที่มีผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5
8) ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเพิ่มการรับซื้อชีวมวล เพื่อผลิตพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน
9) ให้กระทรวงการคลังมีมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจเกษตรกรปลอดการเผา เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรในภาคการเกษตร
10) ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันการศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้กับเยาวชน ประชาชน ชุมชนในการจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมในการจัดการปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง
11) ให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จัดให้มีห้องปลอดฝุ่น หน่วยบริการตรวจสุขภาพ คลินิกมลพิษให้กับประชาชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง

ที่มา : มติชนออนไลน์

share on: